สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

กรณีกรรมการคนหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทแล้วกรรมการคนอื่นไม่ยอมฟ้องคดีต่อศาล จะทำอย่างไร

การเป็นกรรมการบริษัทย่อมได้รับความไว้วางใจจากผู้ถือหุ้น แต่ในบางครั้งการเป็นกรรมการบริษัทก็เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนอาจจะกระทำความผิดต่อกฎหมาย หรือทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ซึ่งโดยปกติแล้วกฎหมายกำหนดให้กรรมการเป็นผู้ฟ้องคดีต่อผู้กระทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย แต่ในกรณีที่กรรมการเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง แล้วใครจะเป็นผู้เสียหายและเป็นผู้ฟ้องคดีกับกรรมการที่เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทได้บ้าง
ซึ่งทนายเชียงใหม่ให้แนะข้อกฎหมายดังนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 วรรคแรก บัญญัติว่า “ถ้ากรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท ๆ จะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้” จะเห็นได้ว่า กฎหมายได้กำหนดว่า เป็นการให้อำนาจผู้ถือหุ้นมีอำนาจฟ้องร้องเอาคำสินไหมทดแทนจากผู้เป็นกรรมการบริษัทที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทได้
ดังนั้น ผู้ที่จะฟ้องร้องคดีต่อกรรมการผู้กระทำให้เกิดความเสียหายก็คือ ผู้ถือหุ้นของบริษัท นั้นเอง

                เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวนั้น จึงขอนำคำพิพากษาหรือคำตัดสินของศาลฎีกามาเป็นกรณีศึกษาดังนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10878/2551 ตามคำฟ้องของ

โจทก์เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท บ. ได้สมคบกันในการประชุมกรรมการบริษัทและมีมติให้ขายที่ดินให้แก่จำเลยทั้งแปดซึ่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทและบุคคลภายนอกในราคาต่ำกว่าราคาประเมินและราคาตามท้องตลาดทำให้บริษัทเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท อันมีลักษณะเป็นการกล่าวอ้างว่ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท เมื่อปรากฏว่าบริษัทไม่ยอมฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท บ. ย่อมมีอำนาจเอาคดีนี้ขึ้นว่ากล่าวฟ้องร้องแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง และโจทก์ย่อมมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทโอนที่ดินทั้ง 25 แปลง คืนให้แก่บริษัท หรือหากไม่สามารถโอนคืนก็ให้ใช้ราคาที่ดินแทนได้ เพราะการคืนหรือใช้ราคาทรัพย์นั้นก็จัดเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. 438 วรรคสอง แต่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ซึ่งมิใช่กรรมการบริษัทรับผิดโอนที่ดินร่วม 19 แปลง คืนให้แก่บริษัทหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทได้ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง